วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

5กิโล ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

จากที่เริ่มวิ่งมาเข้าเดือนที่5แล้ว อาทิตย์ละสามวันทำตามแผน 5K ที่เค้ามีให้ตามเนท และแล้วตารางที่ต้องวิ่งครึ่งชั่วโมงแบบต่อเนื่องก็มาถึง(ประมาณสองอาทิตย์ที่แล้ว) ความคิดแรกเลย น่าจะวิ่งได้แบบไม่ลำบากนัก เพราะที่วิ่งมาก็รู้สึกว่าวิ่งได้เยอะขึ้นเไกลขึ้น พอถึงเวลาจริงๆไม่ใช่เลย มันยากมาก ยิ่งตอน5นาทีสุดท้ายแทบจะยกขาไม่ขึ้นแล้ว ไม่รู้ว่าคนอื่นที่ฝึก 5K จะเป็นแบบนี้หรือเปล่า หรือเราจะเป็นอยู่คนเดียวหว่า กดนาฬิกาดู 5กิโลกว่าๆ คิดในใจถึง5โลด้วยแฮะ เคยถามเพื่อนว่าวิ่งกี่โล มันว่า5โลพูดเหมือนวิ่งสบายๆ เราก็นึกว่าง่ายๆ หลอกกันชัดๆ เมื่อวันก่อนก็เลยลองอีกรอบ คราวนี้ดีขึ้นไม่ถึงกับลาก แต่ก็เอาการอยู่คงต้องรักษาระยะนี้ความเร็วนี้ไปอีกเป็นเดือน

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

"Running Form" หรือก็คือ "รูปแบบการวิ่ง" (ตอนที่1 การลงพื้นของเท้า )

เกริ่นกันมาสองตอนตั้งแต่ จะวิ่งทั้งที มันต้องมี ท่าทาง!!!! ต่อด้วย วิ่งแบบเด็กๆ ในที่สุด(เฮ) เราก็จะมาเข้าเรื่องท่าทางในการวิ่งสักที สิ่งที่เราสนใจในท่าวิ่งหลักๆมีอยู่สี่อย่าง

การลงพื้นของเท้า ​​การวางลำตัว การวางศรีษะ และการแกว่งแขน จริงๆก็วางไว้ที่เดิมล่ะแค่เช็คตำแหน่งเล็กน้อย


มาเริ่มดูกันทีละข้อไปเลย

การลงพื้นของเท้า 

​​สำคัญมากเกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บที่นักวิ่งส่วนใหญ่เป็นกัน สำคัญจริงๆนะตัวเธอ
ก่อนเข้าเรื่องเรามาทำความรู้จักเท้าของเราสักนิด(แวะอีกแล้ว) เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันจะได้คุยกันรู้เรื่องอ่ะ เท้าเราส่วนที่สัมผัสพื้นแบ่งเป็นสี่ส่วน(ดูรูปประกอบได้เลย)
1. ส้นเท้า (Heel)
2.กลางเท้า (midfoot)
3.แนวปุ่มกลมๆก่อนถึงนิ้ว (Ball of foot)
4.นิ้ว (Toes)



ลักษะณะการลงเท้าของคนเราขณะวิ่งมีอยู่ด้วยกันสามแบบหลักๆ
ลงที่ ส้นเท้า กลางเท้าและหน้าเท้า(Ball of foot เรียกอีกอย่างก็ forefoot) โดยธรรมชาติของคนเวลาเดินส้นเท้าจะลงพื้นก่อน แต่ถ้าวิ่งก็จะกลับกันเป็นกลางเท้าหรือหน้าเท้าลงก่อน (ลองดูได้) เพราะอะไรนะรึ?

ของงี้มันต้องลอง ถอดรองเท้าเดินเลย แล้วก็ค่อยๆวิ่งให้เร็วขึ้น (ถ้าตอนวิ่งยังใช้ส้นเท้าลงอยู่รับประกันความสั่นสะเทือนส้นเท้ากระแทกไปถึงหัวเข่าระดับ4รกเตอร์) พยายามใช้ส้นลงพื้นแล้วมันไม่ไหวจริงๆ เลยต้องปรับมาเป็นช่วงหน้าเท้าค่อนไปทางปลายเท้า สักพักก็รู้ตัวว่ามันค่อนไปทางปลายเท้ามากเกินไป(นิ้วเริ่มจะเจ็บละ) เลยต้องปรับอีกรอบ ถ่ายน้ำหนักลงพื้นมาเป็น หน้าเท่าค่อนมาทางกลางเท้า

เวปฝรั่ง(http://jollyguru.com/correct-and-proper-running-technique-foot-strike/)เค้าแนะนำมาว่าแรงกดแต่ละส่วนของเท้าขณะลงพื้นควรเป็นเช่นไร
ถ้าดูตามรูปคือเวลาลงพื้นให้ส่วนหน้าเท้าลงก่อนแล้วส่วนกลางเท้ากะส้นเท้าค่อยตาม นิ้วเท้ามันจะสัมผัสพื้นเองอยู่แล้ว

ตอนนี้ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นมา
"ตอนนี้ก็วิ่งลงส้นอยู่ไม่เห็นเป็นอะไรเลยอ่ะ" 
จริงๆก็ดูเหมือนว่ามันจะไม่เป็นอะไร ที่วิ่งได้อยู่อย่างไม่เป็นอะไรก็เพราะ "รองเท้า" รองเท้าวิ่งที่เป็นแบบ Traditional จะมีส่วนรองรับแรงกระแทก(Cusion)ที่ส้นเท้าหนามาก ทำให้แรงที่ส่งไปที่เข่าลดลง อีกเรื่องคือระยะวิ่งยังไม่มากพอ และอีกเรื่องก็คือความทนทานของร่างกาย

คำถามมาอีกแล้ว "งี้ก็วิ่งลงส้นได้สิ รองเท้ามีกันกระแทกมาแล้วนี่" จริงๆมันก็ได้อ่ะล่ะ แต่รองเท้าที่มี cusion หนาก็ไม่ได้เก็บแรงกระเทกทั้งหมดแค่ลงให้น้อยลงเท่านั้น แล้วก็มันไม่ใช่ท่าวิ่งธรรมชาติของคน

การวิ่งลงส้นเท้าแรกกระแทกจะถูกส่งไปที่หัวเข่า สะโพก และหลังส่วนล่าง ทำให้อาจเกิดอาการบาดเจ็บบริเวรหัวเข่ากลับกันถ้าวิ่งกลางเท้า แรงที่เกิดขึ้นจะถูกส่งไปที่น่องและมีความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นช่วยซับแรงคล้ายๆสปริง


ตอนแรกผมก็วิ่งลงส้นนี่ล่ะ แรกๆก็วิ่งได้สบายๆนะ พอเพิ่มระยะทางก็รู้สึกเมื่อยๆเข่า ก็คิดเอาเองว่ามันเพราะเราวิ่งเยอะขึ้น วิ่งอีกสามสี่ครั้งที่ออกแนวเมื่อยๆเริ่มออกแนวปวดถึงกับต้องหยุดวิ่ง พอลองปรับท่าวิ่งวันแรกก็รู้สึกได้แล้วว่าหัวเข่ามันล้าน้อยลง ไปลงที่น่องแทน ลองดูการเปรียบเทียบการลงพื้นแต่ละแบบดูได้



เอาล่ะ อาจจะยังไม่โดนใจบางคนเท่าไหร่ "ทำไมชั้นต้องเปลี่ยนท่าวิ่งด้วยยะ" เดี๋ยวก่อนเรามีข้อเสนออีก นอกจากเรื่องอาการบาดเจ็บ(ที่เค้าเป็นห่วงนะตัวเธอ) แล้วยังมีเรื่องประสิทธิภาพของการวิ่งด้วย ขณะที่เท้าเราสัมผัสพื้นมันจะมีแรงกระทำทั้งสองฝั่ง คือพื้นก็จะส่งแรงกลับมาที่เท้าด้วย ถ้าเราใช้ส้นเท้าลงมุมของขาจะเป็นมุมที่ยื่นไปหน้าตัว(ชมที่รูปประกอบ)
ตามรูปแรงที่ถูกส่งกลับมาจะไปทางด้านหลัง นึกภาพเวลาเดินลงจากทางชันเราต้องยันเท้าไปหน้าตัวเพื่อไม่ให้ไหลไปตามทางก็คือให้แรงที่พื้นพยุงตัวเราไว้ด้านหลังนั่นเอง แต่ๆๆๆ ถ้าเราวิ่งด้วยเท้าหน้าหรือกลางเท้า แรงมันจะถูกดีดส่งไปทิศทางด้านหน้า ชมคลิปประกอบ นาทีที่7



สรุป1 ท่าวิ่งที่ถูกต้องช่วยลดโอกาสการเกิดอากาบาดเจ็บและเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่ง
สรุป2 รองเท้าที่มี Cusion หนา ไม่ใช่ไม่ดี นักวิ่งระยะไกลเค้าก็ใส่กัน แต่ช่วงแรกที่เราเริ่มวิ่งจะทำให้เราละเลยท่าทางการวิ่งที่ถูกต้อง

เล่ามายาวแสนยาวหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้เพื่อนได้บ้างนะจ้า

ส่วนที่เหลือคราวหน้ามาว่ากันไม่ไหวละสมาธิหดหาย



ทวิกีฬา ปั่น-วิ่ง-ปั่น

เรื่องของเรื่องคือเบื่อวิวเก่าๆที่เคยวิ่ง เลยว่าจะไปวิ่งที่สวนสาธารณะกะเค้าซะหน่อย สวนใกล้ๆบ้านที่ดูน่าไปวิ่งก็มีสวนนวมินทร์ภิรมย์ (Google map) ชวนพ่อกะแม่ก็ไม่ไปเอางัยดีขับรถไปวิ่งคนเดียวมันดูเกินเหตุไปหน่อย

ก่อนมาออกกำลังด้วยการวิ่งเมื่อก่อนก็ปั่นจักรยานอยู่แล้วก็เลย เอ้าลองดูปั่นไปละกัน

หมุดเขียวๆคือจุดเริ่มต้น ปลายทางก็สวนหมุดแดงๆ ระยะทางก็ประมาณ 9 กิโล ออกจากบ้านตอน 6.50น. ถึงสวนประมาณ7.30น. อากาศเริ่มร้อนแต่ยังชิวๆ สวนนวมินทร์ภิรมย์ เป็นแก้มลิงก็จะเป็นน้ำอยู่ตรงกลาง เราก็วิ่งรอบๆบึงรอบนึงก็ประมาณ 2 km. เก็บของ ยืดร่างกายหน่อย แล้วก็ไปวิ่ง วิ่งแบบไม่หยุดได้ 1.2 km. ชักไม่ไหวเดินก่อนดีก่า แล้วก็เดินๆวิ่งๆเพราะรู้สึกขามันจะไม่ไป(เมื่อวานก็วิ่งมา)

ตามแผนที่เบยสองรอบ 4โลนิดๆ ไม่ไหวยอมแพ้นั่งพักใต้ต้นไม้ร่มสูดO2เพลินๆ พอจะกลับทีนี้ล่ะปัญหาเริ่มเกิดนั่งชิวๆสบายๆต้องปั่นจักรยานกลับ ระยะทางพอกะขามา แต่แดดนี่สิคนละเรื่อง(9โมงละ)  ถึงบ้านทั้งหิวทั้งเกรียมขาเมื่อยไปหมด

สรุปเลยว่าร่างกายตอนนี้ยังฟิตไม่พอจะปั่นและวิ่ง ตอนวิ่งนี่กินแรงจริงๆ รอบหน้าไม่เอาแล้วววว

อุปกรณ์ทวิกีฬางวดนี้ รองเท้าวิ่งใส่ขี่กับบันได Clipless ลำบากแท้ๆล่ะ

วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2558

Traditional สู่ Minimalist ครั้งแรก

เริ่มวิ่งมาเข้าเดือนที่สี่(ประมาณ150กิโลเมตร) เริ่มเปลี่ยนจากการวิ่งแบบลงส้น (Heel Strike) มาเป็นลงที่เท้าหน้า (Forefoot Strike) ได้ประมาณสองสัปดาห์ ด้วยรองเท้าวิ่งคู่แรก คือ NIKE DULAL FUSION 3 เป็นรองเท้าแบบ Traditional 


ซ้าย NIKE (Traditional) - ขวา SKORA (Minimalist)
Traditional running shoes คือรองเท้าที่มีความสูงระหว่างเท้าด้านหน้าและส้นเท้าไม่เท่ากัน (ว่าง่ายก็รองเท้าวิ่งทั่วไปที่ส้นหนาๆนั่นล่ะ) สิ่งที่ลำบากถ้าวิ่งแบบForefoot แต่ใช้รองเท้าแบบ Traditional คือต้องยกปลายเท้าให้สูงขึ้นเพื่อให้ส้นเท้าไม่กระทบพื้น ผลคือจะเมื่อหน้าเท้าเร็วกว่าที่ควรเป็น เอางัยดีล่ะ ไหนๆก็ไหนๆก็หารองเท้าที่เหมาะสมในแบบที่เราวิ่งสิ นั่นก็คือรองเท้าแบบ Minimalist

Minimalist  running shoes คือรองเท้าที่มีความสูงระหว่างเท้าด้านหน้าและส้นเท้าเท่ากัน ภาษาฝรั่งเค้าเรียกว่า ZERO DROP เนื่องด้วยมันเป็นรองเท้าที่ออกแบบมาให้การสวมใส่คล้ายๆว่าจะไม่ได้ใส่รองเท้าเลย รองเท้าแบบ Minimalist จึงมีความหนาของพื้นน้อย เพื่อให้เราสัมผัสและรับรู้แรงที่กระทบพื้นได้ใกล้เคียงความจริงทีสุด ลองๆหาจากในเนทและตามblogวิ่งต่างๆ ก็มีหลายยี่ห้อ มาตกหลุมรักก็คือ SKORA เนื่องด้วยความงาม ที่คิดแล้วว่าใส่ไปข้างนอกแบบไม่ต้องวิ่งก็ใส่ได้(ความชอบล้วนๆ)

พอได้มาก็ไม่รอช้าใส่เดิน1วันก่อนเพื่อทำความคุ้นเคยกันสักนิด วันต่อมาก็จัดเลยวิ่งไปประมาณ 3กิโลกว่าๆ ความรู้สึกที่ได้คือ วิ่งง่ายขึ้นไม่ต้องเขย่งเท้ามาก(ก็แหงล่ะไม่งั้นจะซื้อมันมาทำไม) ส่วนเรื่องที่พื้นบางกะไว้ว่าน่าจะมีแรงกระแทกมากขึ้น แต่เอาเข้าจริงๆกลับไม่ค่อยรู้สึกถึงความแตกต่างกับรองเท้าแบบ Traditional สักเท่าไหร่ แต่เพิ่งใส่ไปครั้งเดียว เดี๋ยวลองไปเรื่อยๆแล้วจะมาเพิ่มเติมความเห็นให้อีกทีนะจ๊ะ

ปล.คู่แรกไม่ต้องน้อยใจเราจะใส่เจ้าเวลาเดินออกกำลัง

วิ่งแบบเด็กๆ

คราวที่แล้วว่าด้วยเรื่องท่าวิ่งที่ถูกต้อง (จะวิ่งทั้งที มันต้องมี ท่าทาง!!!!) มีผลทำให้วิ่งเร็วขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง ที่สำคัญหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

ถ้าจำตอนเราเด็กๆได้ หรือถ้าจำไม่ได้ลองออกไปนอกบ้านตามหาเด็กสักคนก็ได้ เวลาเด็กวิ่งพวกไม่เคยนึกถึงรองเท้าเลย คิดจะวิ่งเล่นก็วิ่งไปอย่างรวดเร็ว สักพักเสียงพ่อแม่ก็ตามมา 

ลูกกกกกก กลับมาใส่รองเท้าก่อน 

แปลกมั้ยทำไมเด็กถึงวิ่งได้โดยไม่ต้องใส่รองเท้าแต่พอโตขึ้นกลายเป็นเราต้องใส่รองเท้าวิ่ง ธรรมชาติของมนุษย์เกิดมาตัวเปล่าๆอยู่แล้ว เวลาเด็กๆวิ่งเค้าจึงมีสัญชาติญาณธรรมชาติของมนุษย์เต็มๆ ที่ยังไม่ได้ถูกครอบงำด้วยกระบวนการคิดต่างๆ ทำให้การวิ่งของเค้ามีการปรับสมดุลและความยืดหยุ่นรองรับแรงต่างๆที่เกิดขึ้นจากการวิ่งด้วยร่างกายตามธรรมชาติ หรือไม่ก็ดูเหล่าชาวเขาก็ได้วิ่งกันเป็นกิโลๆโดยไม่ต้องใส่รองเท้า

แล้วทำไมโตขึ้นเราถึงได้ลืมสัญชาติญาณเหล่านั้นล่ะ ไม่ยากเลยคำตอบอยู่ตรงสิ่งที่อยู่ใต้ติงเราเวลาเราออกไปนอกบ้าน คิดออกยางงง ก็พื้นงัยล่ะ(อ๊ากกกก าสเำก้ดเา่้กดาเมืดา้ื มุขกากยังจะเล่น) 

"รองเท้านั่นเอง" 

อ้าวๆพวกกุใส่มาตั้งแต่เด็กจะมาโทษรองเท้ากันง่ายๆได้งัย จริงๆไม่ได้โทษรองเท้านะ เพราะรองเท้าเป็นต้นเหตุเท่านั้นเอง พอเราใส่รองเท้าร่างกายเราก็จะขาดความระวังในการรับแรงต่างๆ ยิ่งนิ่มเท่าไหร่ยิ่งขาดความระวังมากขึ้นเท่านั้น มันก็เลยเป็นเหตุให้สัญชาตญาณของท่าวิ่งที่ถูกต้องหายไป

"เอ็งอย่ามาเกรียน แล้วท่าวิ่งกุผิดตรงไหน ก็วิ่งได้นิไม่เห็นเป็นไร" ที่บอกมาเมื่อกี้นะ ไม่ได้เหมาว่าเราทุกคนพอโตขึ้นจะวิ่งผิดท่า แต่โดยส่วนใหญ่เท่านั้นเอง เดี๋ยวมาต่อคราวหน้าว่าท่าวิ่งแบบไหนเป็นอย่างไร

ขอบคุณที่รับชมจร้าา

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

จะวิ่งทั้งที มันต้องมี ท่าทาง!!!!

เกริ่นเรื่องย้อนกลับไปประมาณสี่เดือนที่แล้ว(ปลายธันวาคม 2557) จากที่เคยออกกำลังกายด้วยการปั่น หรือขี่ หรือถีบ จักรยาน อยู่ดีๆก็เกิดอยากจะวิ่งขึ้นมาซะงั้น อยู่มาตั้งนานทำไมไม่คิด หรือว่ามันจะเป็นเทรนเห็นเค้าวิ่งก็เอาบ้าง เอ้าวิ่งเลยแล้วกัน ด้วยความที่เป็นคนชอบเรียนรู้(มั้ง) ก็วิ่งไปหาข้อมูลไป เริ่มเรียนรู้มาเรื่อยๆ สรุปความสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำหากคิดจะวิ่งก็คือ "ท่าทาง" (ผ่านมาสามเดือนเพิ่งรู้ตัว555) เอาละอะไรวะวิ่งก็วิ่งเดะ ท่าเท่ออะไร นั่นสิจะวิ่งมันจะอะไรกันนักหนา

"ท่าวิ่ง" โดยส่วนตัวความสำคัญของท่าวิ่งไม่ใช่ความเร็วที่เพิ่มขึ้นกับระยะที่มากขึ้น แต่สนใจเรื่องอาการบาดเจ็บจากการวิ่งมากกว่า เพราะอะไรน่ะนึก็เพราะถ้าวิ่งผิดท่าการออกกำลังที่คิดว่าคือสิ่งดี มันจะกลับกลายเป็นทำร้ายเราน่ะสิ

มาต่อคราวหน้าไม่ได้กั๊กนะ แต่ต้องรีบนอนเพราะพรุ่งนี้จะไปวิ่งแต่เช้าาา